
ปางประจำวันเกิด : ปางวันอาทิตย์
คนเกิดวันอาทิตย์ ให้บูชาพระพุทธรูป ปางถวายเนตร ลักษณะประทับยืน ลืมพระเนตรทั้ง 2 ข้าง พระหัตถ์ซ้าย – ขวา ประสานกันอยู่ที่หน้าพระเพลา (ตัก) โดยที่ พระหัตถ์ขวา ซ้อนเหลื่อม พระหัตถ์ซ้าย เล็กน้อย
ความเป็นมา : มาจากเหตุการณ์ตอนที่ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดจากความสงบ) อยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นระยะเวลา 7 วัน จากนั้น ได้เสด็จไปประทับยืน ณ ที่กลางแจ้งทางทิศอีสาน ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ และ ทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยไม่กระพริบพระเนตรเลย ตลอดระยะเวลา 7 วัน
ความหมาย : ด้วยการยืนเพ่งต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ถือเป็นทิศเดียวกับ ดวงอาทิตย์ ในภูมิทักษา (การพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ที่ใช้ดาวพระเคราะห์ ๙ ดวงเป็นเกณฑ์) และ ดวงอาทิตย์ ยังมีความหมายถึง ดวงตา ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางนี้ เรียกว่า ปางถวายเนตร และ ยกให้เป็น พระประจำวันเกิด วันอาทิตย์
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอาทิตย์
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ
คุตตา วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม
นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ
คุตตา วิหะเรมุ รัตติง เย พ๎ราห๎มะณา เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม
นะโม เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง นะมัตถุ โพธิยา
นะโม วิมุตตานัง นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง กัต๎วา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ
(สวดวันละ 6 จบ)
ปางประจำวันเกิด : วันจันทร์
ใครเกิดวันจันทร์ ให้บูชาพระพุทธรูป ปางห้ามญาติ และ ปางห้ามสมุทร โดย ปางห้ามญาติ มีลักษณะประทับยืน พระกรซ้ายทอดยาวข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้า แสดงอภัยมุทรา
อีกปางหนึ่งคือ ปางห้ามสมุทร ลักษณะคล้ายกับ ปางห้ามญาติ คือ ประทับยืนเหมือนกัน แต่จะยกพระหัตถ์เสมอพระอุระ แสดงอภัยมุทรา ทั้ง 2 ข้าง
ความเป็นมา : ปางห้ามญาติ มาจากเหตุการณ์ตอนที่ พระพุทธเจ้า เจรจาห้ามทัพ ไม่ให้พระญาติฝ่ายพระบิดา และ พระมารดาทะเลาะกัน เรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณี เพื่อนำน้ำไปเพาะปลูก
ปางห้ามสมุทร มาจากเมื่อครั้งที่ พระพุทธเจ้า เสด็จไปโปรดพวกชฎิล 3 พี่น้อง และบริวารอีก 1000 คน เพื่อให้ยอมออกบวช และ ติดตามพระองค์เป็นพุทธสาวก
ความหมาย : ด้วย ดวงจันทร์ เป็นดาวประจำธาตุน้ำ และหมายถึง ญาติพี่น้อง ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ปางห้ามสมุทร และ ยกให้เป็น พระประจำวันเกิด วันจันทร์ เพื่อช่วยเรื่องการห้ามสิ่งที่ไม่ดีเข้ามา และ ป้องกันการทะเลาะเบาะแว้งของญาติพี่น้อง คนในครอบครัว
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันจันทร์
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโธ
ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง พุทธานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโธ
ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง ธัมมานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
ยันทุนนิมิตตัง อะวะมังคะลัญจะ โย จามะนาโป สะกุณัสสะ สัทโธ
ปาปัคคะโห ทุสสุปินัง อะกันตัง สังฆานุภาเวนะ วินาสะเมนตุ ฯ
(สวดวันละ 15 จบ)
ปางประจำวันเกิด : วันอังคาร
เกิดวันอังคาร ให้บูชาพระพุทธรูป ปางไสยาสน์ ลักษณะเป็นพระอิริยาบถ ขณะทรงบรรทม นอนตะแคงขวา พระเนตรปิด 2 ข้าง พระเศียรนอนหนุนพระเขนย พระกรซ้ายทอดยาวแนบพระวรกาย พระหัตถ์ขวาหงายวางแนบพื้นข้างพระเขนย พระบาททั้ง 2 เหยียดเสมอกัน
ความเป็นมา : มาจากเหตุการณ์ตอนที่ พระจุนทะเถระ ปูอาสนะให้พระพุทธเจ้า ทรงบรรทมระหว่างต้นรังคู่หนึ่ง แบบสีหไสยาสน์ หรือ การนอนแบบราชสีห์ แล้วตั้งพระทัยว่าจะไม่ลุกอีก แต่ก็ยังได้โปรด สุภัททะปริพาชก จนได้เป็น พระอรหันต์ องค์สุดท้าย ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน กับอีกเหตุการณ์หนึ่งคือ ทรงเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่โต และ เสด็จบรรทมรอรับ พระราหู ที่จะเสด็จมาเข้าเฝ้าด้วยความเลื่อมใส
ความหมาย : ด้วย ดาวอังคาร ถือเป็น ดาวมรณะ และ พระพุทธเจ้า ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวันอังคาร ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ และ ยกให้เป็น พระประจำวันเกิด วันอังคาร เพื่อให้ระลึกถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสติ และ ดำเนินชีวิตอยู่อย่างสงบสุข
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันอังคาร
ยัสสานุสสะระเณนาปิ อันตะลิกเขปิ ปาณิโน
ปะติฏฐะมะธิคัจฉันติ ภูมิยัง วิยะ สัพพะทา
สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิสัมภะวา
คะณะนา นะ จะ มุตตานัง ปะริตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 8 จบ)
ปางประจำวันเกิด : วันพุธ (กลางวัน)
คนเกิดวันพุธ (กลางวัน) ให้บูชาพระพุทธรูป ปางอุ้มบาตร ลักษณะประทับยืน พระหัตถ์อุ้มบาตรอยู่ทั้ง 2 ข้าง
ความเป็นมา : มาจากเหตุการณ์ตอนที่ หลังจากทรงแสดงปาฏิหาริย์ เหาะขึ้นไปในอากาศ ต่อหน้าพระประยูรญาติ เพื่อให้ลดทิฐิลง และ แสดงพระเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดก เสร็จแล้ว ด้วยเข้าใจผิดคิดว่า พระพุทธเจ้า และ พระสาวก จะฉันภัตตาหารในพระราชวัง ที่มีการจัดเตรียมไว้ จนไม่มีใครทูลอาราธนาฉันพระกระยาหารเช้าในวันรุ่งขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงพาพระภิกษุสงฆ์ เสด็จออกบิณฑบาตกับชาวบ้าน เพื่อโปรดสัตว์
ความหมาย : ด้วย ดาวพุธ ถือเป็นดาวที่เกี่ยวกับ การเดินทางและอาหารต่าง ๆ ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางอุ้มบาตร และ ยกให้เป็น พระประจำวันเกิด วันพุธ (กลางวัน) เพื่อให้บูชาแล้ว จะได้พบแต่ความสุข ความเจริญ และ ความอุดมสมบูรณ์
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธ (กลางวัน)
สัพพาสีวิสะชาตีนัง ทิพพะมันตาคะทัง วิยะ
ยันนาเสติ วิสัง โฆรัง เสสัญจาปิ ปะริสสะยัง
อาณักเขตตัมหิ สัพพัตถะ สัพพะทา สัพพะปาณินัง
สัพพะโสปิ นิวาเรติ ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 17 จบ)
ปางประจำวันเกิด : วันพุธ (กลางคืน)
ใครเกิดวันพุธ (กลางคืน) ให้บูชาพระพุทธรูปปาง ป่าเลไลยก์ ลักษณะประทับนั่งบนก้อนหิน พระบาททั้ง 2 วางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายวางคว่ำพระชานุ (เข่า) ส่วน พระหัตถ์ขวา วางหงายลงบนพระชานุ แสดงมุทรารับของถวาย ด้านล่างซ้าย – ขวา มีพญาช้างปาลิไลยกะชูงวงถวายคนโทน้ำ และ พญาลิงถือรวงผึ้งถวายอยู่
ความเป็นมา : ปางนี้มาจาก เมื่อครั้ง พระพุทธองค์ ประทับอยู่เมืองโกสัมพี แล้วมีพระภิกษุชอบทะเลาะเบาะแว้งกัน พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ในป่าที่ชื่อว่า ปาลิไลยกะ ตามลำพัง โดยมีพญาช้างชื่อเดียวกัน มาคอยปรนนิบัติ ต่อมาเมื่อพญาลิงเห็นเช่นนั้น ก็เกิดกุศลจิตทำตามอย่างบ้าง จนเมื่อชาวบ้านไม่เห็นพระพุทธเจ้า และ ได้ทราบเหตุผล ก็พากันติเตียน และไม่ทำบุญกับพระเหล่านั้น จนพระเหล่านั้นสำนึก จึงได้ขอให้พระพุทธองค์เสด็จกลับมา เมื่อพญาช้างติดตามมาส่ง ได้เกิดความเสียใจ ความอาลัยอาวรณ์มาก จนในที่สุดก็สิ้นลม ด้วยผลบุญที่ทำไว้ จึงได้ไปเกิดเป็น “ปาลิไลยกเทพบุตร”
ความหมาย : ด้วย วันพุธ (กลางคืน) ถือเป็นวันราหู ที่ทำให้มนุษย์หลงมัวเมาในอบายมุขได้ง่าย ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางเลไลยก์ และ ยกให้เป็น พระประจำวันเกิด วันพุธ (กลางคืน) เพื่อให้บูชาแล้ว จะได้คอยเตือนสติตัวเรา ให้อย่าเชื่อคนง่าย ตลอดจนลุ่มหลง มัวเมาไปในทางที่ผิด เพราะไม่เช่นนั้น อาจจะทำให้ตนเองเดือดร้อน ดังเหตุการณ์ที่พระสงฆ์เมืองโกสัมพีทะเลาะกัน จนพระพุทธเจ้าต้องเสด็จไปประทับที่ป่าเลไลยก์ เป็นเหตุให้โดนชาวบ้านติเตียน และ ไม่มีใครทำบุญด้วยนั่นเอง
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพุธ (กลางคืน)
กินนุ สันตะระมาโนวะ ราหุ จันทัง ปะมุญจะสิ
สังวิคคะรูโป อาคัมมะ กินนุ ภีโต ติฏฐะสีติ
สัตตะธา เม ผะเล มุทธา ชีวันโต นะ สุขัง ละเภ
พุทธาคาถาภิคิโตมหิ โนเจ มุญเจยะ จันทิมันติ
(สวดวันละ 12 จบ)
ปางประจำวันเกิด : วันพฤหัสบดี
เกิดวันพฤหัสบดี ให้บูชาพระพุทธรูป ปางสมาธิ ลักษณะทรงประทับนั่ง ในท่าขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย วางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก)
ความเป็นมา : มาจากเหตุการณ์ตอนที่ เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงประทับนั่งขัดสมาธิ บนบัลลังก์หญ้าคา ใต้ต้นมหาโพธิ์ ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 จึงได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ความหมาย : ด้วย ดาวพฤหัสบดี มีความหมายถึง ความสำเร็จ ความเจริญรุ่งเรือง สติปัญญา ฯลฯ อีกทั้งยังถือเป็น วันครู ด้วย ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ และ ยกให้เป็น พระประจำวันเกิด วันพฤหัสบดี เพื่อให้บูชาแล้ว จะได้ระลึกถึง พระพุทธเจ้า ในฐานะศาสดาผู้สอนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ และ พบแต่ความสำเร็จ ความเจริญในชีวิต
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันพฤหัสบดี
ปูเรนตัมโพธิสัมภาเร นิพพัตตัง วัฏฏะชาติยัง
ยัสสะ เตเชนะ ทาวัคคิ มะหาสัตตัง วิวัชชะยิ
เถรัสสะ สารีปุตตัสสะ โลกะนาเถนะ ภาสิตัง
กัปปัฏฐายิ มะหาเตชัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 19 จบ)
ปางประจำวันเกิด : วันศุกร์
คนเกิดวันศุกร์ ให้บูชาพระพุทธรูป ปางรำพึง ลักษณะประทับยืน พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ยกขึ้นประทับที่พระอุระ แสดงพระอิริยาบถรำพึง
ความเป็นมา : มาจากเหตุการณ์ตอนที่ หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ทรงคิดพิจารณาว่า ธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นเรื่องที่ละเอียดเกินไป จึงรู้สึกท้อพระทัย ไม่คิดจะสั่งสอนชาวโลก ร้อนถึงท้าวสหัมบดีพรหม ได้มากราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรม เพื่อแสดงธรรมโปรดสัตว์ เป็นประโยชน์สุขแก่โลก จึงทรงเปลี่ยนพระทัยและเห็นชอบที่จะเสด็จออกไปแสดงธรรมแก่คนทั้งปวงตามคำอาราธนานั้น
ความหมาย : ด้วย ดาวศุกร์ เป็นตัวแทนของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ซึ่งทำให้มนุษย์คิดว่า ความสุขทางโลกเป็นเรื่องสำคัญ ยากที่จะใช้หลักธรรมขัดเกลาจิตใจได้ ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางรำพึง และ ยกให้เป็น พระประจำวันเกิด วันศุกร์ เพื่อให้บูชาแล้ว จะได้เตือนสติ ให้เราอย่าหลงระเริงกับความสุขทางโลกให้มาก พร้อมกับคอยระลึกถึง หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสม่ำเสมอ ในทุกช่วงจังหวะของชีวิต เพื่อรักษาสมดุล ทำให้ชีวิตมีความสุข
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันศุกร์
ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง
ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะมะตันทิโต
สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ
เอวะมาทิคุณูเปตัง ปะริตตันตัมภะณามะ เห ฯ
(สวดวันละ 21 จบ)
ปางประจำวันเกิด : วันเสาร์
ใครเกิดวันเสาร์ ให้บูชาพระพุทธรูป ปางนาคปรก ลักษณะประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย วางหงายซ้อนกันบนพระเพลา มีพญานาคแผ่พังพานเหนือพระเศียร ขนดหางเป็นพุทธบัลลังก์
ความเป็นมา : มาจากเมื่อครั้งพระพุทธองค์ เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ในสัปดาห์ที่ ๓ ได้ไปประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินทร์ (ต้นจิก) ขณะนั้น ฝนได้ตกลงมาไม่หยุดเป็นเวลา ๗ วัน พญานาคตนหนึ่งชื่อว่า “มุจลินท์นาคราช” จึงได้ขึ้นมาแสดงอิทธิฤทธิ์ เข้าไปวงขนด ๗ รอบ และ แผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าไว้ จนฝนหาย จึงได้แปลงร่างเป็นมานพเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ด้วยความเลื่อมใส
ความหมาย : ด้วย ดาวเสาร์ ถือเป็นดาวบาป จะมีเคราะห์ใหญ่ติดตัวหรือเข้ามาเสมอ ทำให้ผู้ที่เกิดวันนี้มักมีดวงอาภัพ เจอแต่เรื่องทุกข์ใจ ผิดหวัง ทำให้พุทธศาสนิกชนสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก และ ยกให้เป็น พระประจำวันเกิด วันเสาร์ เพื่อให้บูชาแล้ว จะได้รอดพ้นจากความทุกข์ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้องคุ้มครอง เหมือนดั่งพระพุทธเจ้าที่มีพญานาคมาแผ่พังพาน คอยปกป้องพระองค์จากเม็ดฝน
บทสวดมนต์บูชาพระประจำวันเสาร์
ยะโตหัง ภะคินิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต
นาภิชานามิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตาฯ
เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ ฯ
(สวดวันละ 10 จบ)
บทความที่น่าสนใจ