บวชหน้าไฟ
บวชหน้าไฟ สำคัญอย่างไรต่อลูกหลาน ถึงมักจะต้องบวชให้กับญาติหรือคนในครอบครัวที่เสียชีวิต และถ้าหากบวชแล้ว จะส่งบุญไปถึงผู้ล่วงลับได้จริงหรือไม่ หากใครสงสัยหรือกำลังตัดสินใจอยู่ว่า จะบวชดีหรือไม่ Sangchan จะพาคุณไปค้นหาคำตอบ

บวชหน้าไฟ คืออะไร

บวชหน้าไฟ

บวชหน้าไฟ เป็นประเพณีหนึ่งในงานศพ ที่ลูกหลานจะบวชเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิต ซึ่งจะเป็นญาติ คนในครอบครัว หรือ บุคคลที่เคารพรักก็ได้ ด้วยช่วงเวลาการบวช มักจะบวชกันในตอนเช้าของวันเผา แล้วสึกตอนเย็น ทำให้เรียกกันติดปากว่า “บวชหน้าไฟ”

โดยแต่เดิม การบวชหน้าไฟ ไม่ใช่พิธีกรรมในงานศพ ตามหลักศาสนาพุทธ เพราะย้อนไปในสมัยพุทธกาล ไม่ได้มีการบัญญัติไว้ว่า การจัดงานศพ จะต้องมีการบวชหน้าไฟ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับคนตายแต่อย่างใด ประเพณีนี้จึงเพิ่งถูกคิดขึ้นโดยคนในยุคหลังเท่านั้น โดยที่มาของการให้ลูกหลานบวช เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้กับคนตายเป็นครั้งสุดท้าย นั่นก็เพราะมีความเชื่อว่า การบวช คือ การทำบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เปรียบได้กับแนวคิดการบวชให้พ่อแม่ เท่ากับทำให้พวกท่านได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ ดังนั้น หากบวชให้กับผู้ล่วงลับ ก็เท่ากับทำให้เขาได้รับบุญใหญ่เป็นครั้งสุดท้ายด้วยนั่นเอง

ความสำคัญของบวชหน้าไฟ

บวชหน้าไฟ

เนื่องจากพิธีจัดงานศพตามหลักศาสนาพุทธของไทย จะมีการจัดงานบำเพ็ญกุศล โดยการเชิญพระสงฆ์มาสวดอภิธรรมเป็นระยะเวลา 3 – 7 วัน ซึ่งทำให้ร่างของผู้ล่วงลับนั้นยังคงอยู่ นั่นจึงทำให้ในทางความเชื่อของคนไทย ยังคงเชื่อกันว่า วิญญาณของผู้เสียชีวิตยังคงวนเวียนอยู่ไม่ได้ไปไหน ดังนั้น หากลูกหลานหรือผู้ใกล้ชิดอยากจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ บุญเหล่านั้นก็จะยังสามารถส่งไปถึงอยู่

การบวชหน้าไฟ จึงมีความสำคัญต่อลูกหลาน ในแง่ที่ว่าจะได้บวช เพื่อทำบุญครั้งใหญ่ อุทิศให้เป็นส่วนบุญส่วนกุศลแก่บุพการี ญาติผู้ล่วงลับ เป็นครั้งสุดท้าย นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ที่เคยได้เลี้ยงดู อุปถัมภ์ จนเราเติบโตขึ้นมาอีกด้วย

บวชหน้าไฟ ส่งบุญไปถึงผู้ล่วงลับได้จริงหรือไม่

บวช

เมื่อบวชหน้าไฟในงานศพ จริงอยู่ว่า ได้บวชเป็นพระสงฆ์หรือสามเณรแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นแต่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น ในทางจิตใจและการกระทำ ก็จะต้องประพฤติและปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรมอย่างเคร่งครัด ถึงจะทำให้บุญที่ได้จากการบวชนั้นเกิดขึ้น และ ส่งไปถึงผู้เสียชีวิตได้

นั่นจึงทำให้ผู้ที่จะมาบวชหน้าไฟ ต้องยินยอมพร้อมใจที่จะเข้าสู่ร่มกาสาวพักตร์อย่างแท้จริง ไม่ได้ทำเพียงเพราะเป็นแค่ประเพณีที่ต้องปฏิบัติตามเท่านั้น หรือ โดนพ่อแม่บังคับฝืนใจ อีกทั้งยังต้องมีความตั้งใจ ที่จะรักษาศีล ศึกษาหลักธรรมคำสอน ถึงจะสามารถส่งบุญไปถึงผู้ล่วงลับได้จริง

โดยระยะเวลาการบวชหน้าไฟ สามารถบวชได้ตั้งแต่ 1 วัน หรือ 3 – 7 วัน ก็ได้ แล้วแต่ความตั้งใจและความมุ่งมั่นของคน ๆ นั้น แต่ไม่ว่าระยะเวลาจะสั้นหรือนานเท่าไหร่ ขอเพียงมีความตั้งใจในการปฏิบัติธรรม ก็จะทำให้การบวชหน้าไฟ สามารถเกิดผลบุญกุศล ส่งไปถึงผู้เสียชีวิตได้อย่างแน่นอน

ขั้นตอนการบวชหน้าไฟ

บวชหน้าไฟ

หากตัดสินใจได้แล้วว่า จะบวชหน้าไฟ แต่ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง สามารถทำตาม ขั้นตอนการบวชหน้าไฟ ดังต่อไปนี้ได้เลย ซึ่งก็มีวิธีการไม่ยุ่งยาก กล่าวคือ

  • ประสานงานกับวัดที่เราจะทำพิธี เพื่อนัดวันเวลาและกราบอาราธนาขออนุญาตพระอุปัชฌาย์ หรือพระภิกษุผู้ที่ทำหน้าที่ประธานในการบวชครั้งนี้
  • เมื่อถึงวันที่ทำพิธีให้เดินทางไปวัดที่ทำพิธี ปลงผม โกนคิ้ว โกนหนวด และนำจีวรที่เตรียมไว้ไปหาพระอุปัชฌาย์เพื่อประกอบพิธี
  • เมื่อบวชเสร็จแล้ว ทำการปฏิบัติกรรมฐาน เพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้ผู้วายชนม์

โดยหากเป็นงานศพที่จัดขึ้นที่บ้านของผู้เสียชีวิต ระหว่างที่เคลื่อนย้ายโลงศพไปยังเมรุเผาศพ พระภิกษุหรือสามเณรที่บวชหน้าไฟ อาจจะมีการผูกสายสิญจน์แล้วเดินลากจูงโลงศพไปขึ้นเมรุระหว่างทางด้วย ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็อาจจะมีแนวทางการปฏิบัติแตกต่างกันไป ดังนั้น ขั้นตอนการบวชหน้าไฟ ก็อาจมีแตกต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าในท้องถิ่นหรือจังหวัดนั้น ๆ มีความเชื่อหรือประเพณีในการจัดงานศพอย่างไรด้วย

บวชหน้าไฟถือเป็นประเพณีในงานศพที่ลูกหลานจะบวชเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับ ซึ่งถึงแม้จะเป็นประเพณีที่ถูกคิดค้นขึ้นในภายหลัง แต่ก็มีจุดมุ่งหมายที่ดี ในการที่จะส่งบุญใหญ่ให้กับผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ดังนั้น หากใครคิดจะบวชหน้าไฟ ก็ขอให้รักษาศีล ศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดผลบุญกุศล ส่งไปยังบุคคลอันเป็นที่รักของเราได้อย่างที่ตั้งใจ

About the author : Pres

Related posts

Popular products

Product categories