งานฌาปนกิจ
งานฌาปนกิจ สำคัญอย่างไรต่อการจัดงานศพ และทำไมถึงมักจัดไว้เป็นวันสุดท้ายของพิธีศพอยู่เสมอ Sangchan จะพาไปหาคำตอบ พร้อมบอกรายละเอียดของขั้นตอนการจัดงาน ที่เจ้าภาพควรรู้ เพื่อให้สามารถเตรียมตัวได้พร้อม สำหรับการส่งผู้ล่วงลับ ไปสู่ภพภูมิที่ดี

งานฌาปนกิจ สำคัญอย่างไรตามหลักศาสนาพุทธ

งานฌาปนกิจ

คนไทยส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธ และ ด้วยหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมา ก็ล้วนต้องตายเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ควรคร่ำครวญหรือห่วงหา ร่างที่ปราศจากวิญญาณของคนที่เสียชีวิต หากปล่อยเอาไว้กลับรังแต่จะทำให้เกิดความสังเวช เวทนา ตามหลักศาสนาพุทธ จึงควรจัดการศพของผู้เสียชีวิตให้เรียบร้อย ด้วยเหตุนี้ หลังจากจัดพิธีงานศพทุกอย่างเสร็จสิ้น จึงต้องทำการเผาศพ หรือ งานฌาปนกิจ เพื่อเผาร่างผู้เสียชีวิตให้เป็นเถ้าธุลี จากนั้น จึงนำไปโปรยตามความประสงค์ของผู้ตาย หรือ ของครอบครัว เพื่อให้กลับคืนสู่ผืนดินและธรรมชาติ

ที่มาของ งานฌาปนกิจ

งานฌาปนกิจ

การเผาศพ หรือ งานฌาปนกิจ นั้น มีที่มาตั้งแต่สมัยอินเดียโบราณ ด้วยหลักคิดของศาสนาพราหมณ์ ที่เห็นว่าร่างกายไม่จีรัง มีแต่วิญญาณเท่านั้นที่จะสามารถไปรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเทพเจ้าได้ จึงทำให้การจัดการศพของชาวอินเดียโบราณ มักใช้วิธีการเผาศพ ไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดิ หรือ สามัญชน

เมื่อศาสนาพุทธถือกำเนิดขึ้น ด้วยอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ที่แพร่หลายในอินเดีย และหลักคำสอนที่ทำให้เห็นถึงความไม่เที่ยงของสังขาร ซึ่งคล้ายคลึงกับการเห็นร่างกายเป็นสิ่งไม่จีรังของศาสนาพราหมณ์ จึงทำให้การเผาศพ กลายเป็นวิธีจัดการศพหลักของศาสนาพุทธ ตั้งแต่พุทธกาล ดังที่เหล่ามัลลกษัตริย์ได้ถวายเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า หลังทรงดับขันธ์ปรินิพพาน หรือ แม้แต่ร่างของพระอัครสาวกอย่างพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ หลังนิพพานไป ร่างของทั้ง 2 ก็ได้ถูกเผาเฉกเช่นเดียวกัน

นั่นจึงทำให้ในเวลาต่อมา เมื่อศาสนาพุทธได้แพร่หลายไปยังดินแดนต่าง  ๆ จึงทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ เวลาจัดงานศพ ก็มักจะจัดการร่างผู้เสียชีวิตด้วยการเผาเช่นกัน โดยในเวลาต่อมา มักใช้คำว่า ฌาปนกิจ แทนคำว่า เผาศพ เพื่อให้ฟังดูเป็นพิธีการและรื่นหูมากขึ้น โดยคำว่า ฌาปน มาจากภาษาบาลี แปลว่า เผาศพ หรือ ปลงศพ เมื่อรวมกับคำว่า กิจ จึงแปลว่า พิธีเผาศพ หรือ งานเผาศพ

ก่อนจัดงานฌาปนกิจ ควรทำอะไรบ้าง

บวช

ในงานศพ ก่อนจัดงานฌาปนกิจ เจ้าภาพที่เป็นบุคคลในครอบครัว หรือ ญาติพี่น้องของผู้ล่วงลับ ควรทำ ขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. กำหนดวันที่จะทำการฌาปนกิจ

กำหนดวันที่จะจัดงานฌาปนกิจศพที่แน่นอน โดยเวลาเลือกวัน ควรหลีกเลี่ยง วันพระ, วันอังคารและวันเก้ากอง (คือวันที่คนโบราณกำหนดไว้ว่าเป็นวันไม่มงคล) เพราะเชื่อกันว่า เป็นวันที่ไม่ควรทำพิธีฌาปนกิจ จากนั้น จึงทำความตกลงกับเจ้าหน้าที่ของวัด หรือ ฌาปนสถาน เพื่อจองวันและเวลาที่ต้องการ

2. ชำระล้างร่างกายศพ – รดน้ำศพ

หากไม่ได้ตั้งเช้า เผาเย็น ในกรณีที่มีการบรรจุเก็บศพไว้ก่อนทำการฌาปนกิจ ควรชำระล้างร่างกายของศพด้วยน้ำสะอาด เพราะตามความเชื่อ น้ำสะอาดจะสามารถพาดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่ภพภูมิที่ดีได้ โดยอาจหวีผม แต่งตัวศพให้เรียบร้อยด้วย จากนั้น จึงให้ผู้ที่เป็นญาติพี่น้อง หรือ ผู้คนที่อยากแสดงความเคารพรัก เข้ามารดน้ำศพ  เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและไว้อาลัยผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้าย และ ขออโหสิกรรมจากกระทำที่อาจไปล่วงเกินต่อผู้ล่วงลับ ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่

3. สวดอภิธรรมศพ

จัดพิธีสวดอภิธรรมศพ เพื่อบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ล่วงลับ โดยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์เทศนาธรรม 1 กัณฑ์ สวดมาติกา-บังสุกุล (พระสงฆ์จำนวน 10 รูป หรือเท่าอายุผู้ล่วงลับ หรือตามศรัทธา) พร้อมกับถวายเครื่องไทยธรรม ระหว่างนี้ อาจให้ลูกหลาน ทำพิธี บวชหน้าไฟ เพื่อทำบุญใหญ่ให้แก่บุพการี ญาติพี่น้องเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วย โดยจำนวนวันที่ควรจัดพิธีอภิธรรม สามารถจัดได้ตั้งแต่ 3 – 7 วัน แล้วแต่ความสะดวก ซึ่งถ้ามีแขกเหรื่อมาเยอะ ก็ควรเตรียมอาหารว่างเลี้ยงแขกที่มาฟังสวดทุกคืนด้วย

4. เตรียมอุปกรณ์หลักที่ต้องใช้ในงานฌาปนกิจ

เจ้าภาพที่เป็นบุคคลในครอบครัว หรือ ญาติพี่น้องของผู้ล่วงลับ ควรเตรียมอุปกรณ์หลักที่ต้องใช้ในงานฌาปนกิจ ได้แก่…

  • เครื่องไทยธรรม ผ้าสบงถวายพระสวดมนต์ฉันเพล
  • เครื่องไทยธรรมผ้าไตร และเครื่องติดกัณฑ์เทศน์ถวายพระเทศน์
  • ผ้าไตรประธานเพื่อทอดบังสุกุล และมหาบังสุกุลก่อนทำการฌาปนกิจ
  • ผ้าสบงถวายพระสวดมาติกา-บังสุกุลตามจำนวนพระสวด
  • ดอกไม้จันทน์สำหรับประธานในพิธี และดอกไม้จันทน์ให้กับแขกผู้ร่วมงาน

5. ขอขมาศพและขออโหสิกรรม

หลังจากบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ผู้ล่วงลับแล้ว ก่อนจะเคลื่อนศพไปตั้งที่เมรุ ให้ลูกหลาน ญาติพี่น้อง หรือคนใกล้ชิดกับผู้ล่วงลับทำพิธีขอขมาศพและขออโหสิกรรมที่เคยล่วงเกินต่อกัน ด้วยการตั้งจิต หรือ กล่าวคำขอขมาต่อหน้าผู้ล่วงลับนั้น

ขั้นตอนการจัดงานฌาปนกิจ มีอะไรบ้าง

ฌาปนกิจ

พิธีนี้จะอยู่ในช่วงท้ายสุดของพิธีศพและเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด  หากจัดพิธีศพ 7 วัน พิธีฌาปนกิจจะเกิดขึ้นในวันที่ 7 โดยรายละเอียดของขั้นตอนการจัดงานฌาปนกิจ มีดังต่อไปนี้

1. นิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป เป็นผู้นำในขบวนแห่ศพ

ในช่วงเช้าของพิธีฌาปนกิจ เจ้าภาพจะต้องนิมนต์พระสงฆ์ 1 รูป เป็นผู้นำในขบวนแห่ศพเวียนรอบเมรุ และมีคนถือเครื่องทองน้อย หรือ กระถางธูปนำหน้าศพ แต่ถ้าศพนั้นมีรูปถ่ายของผู้ล่วงลับ ที่ต้องนำไปไว้ในที่บำเพ็ญกุศล ก็ต้องมีคนถือรูปถ่ายนำหน้าศพด้วย

2. แห่ศพเวียนเมรุทั้งหมด 3 รอบ

พอจัดขบวนเสร็จแล้ว เจ้าภาพ ลูกหลาน ลูกหลานที่บวชเป็นพระหน้าไฟ และเครือญาติของผู้ล่วงลับ จะช่วยกันแห่ศพเวียนเมรุทั้งหมด 3 รอบ โดยลำดับการแห่ศพคือ “พระสงฆ์-กระถางธูป-รูปภาพ-ศพ-ญาติมิตร”  ซึ่งการแห่ศพเวียนเมรุนี้ จะต้องเริ่มจากบันไดหน้าเมรุและเดินเวียนซ้าย (เมรุอยู่ทางด้านซ้ายมือของผู้เดิน) ทั้งหมด 3 รอบ เพื่อไว้อาลัยแก่ผู้ล่วงลับ และ สอดคล้องกับกฎไตรลักษณ์ที่ว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” หรือ การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งสามภพ คือ ในโลก นรก และ สวรรค์ เมื่อแห่ศพเวียนเมรุครบทั้ง 3 รอบแล้ว เจ้าหน้าที่จึงนำศพขึ้นตั้งบนเมรุ

3. รำลึกถึงคุณงามความดีของผู้ล่วงลับ

ก่อนจะทำการฌาปนกิจ ให้มีการกล่าวชีวประวัติของผู้ล่วงลับ เพื่อรำลึกถึงคุณความดีต่าง ๆ ที่ผู้ล่วงลับเคยกระทำไว้  จากนั้น จึงทอดผ้าบังสุกุล แล้วให้เชิญแขกผู้ร่วมงาน นำดอกไม้จันทน์และธูปเทียนสำหรับขอขมาศพขึ้นเมรุ เพื่อนำดอกไม้จันทน์ไปวางไว้ที่ใต้เชิงตะกอนสำหรับจุดไฟ หรือ วางหน้าพานศพ

4. ฌาปนกิจ

เมื่อผ่านขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสิ้นเรียบร้อย จึงถึงขั้นตอนการฌาปนกิจ โดยการส่งผู้ล่วงลับเข้าสู่ที่ประชุมเพลิง จนเหลือแต่อัฐิ จากนั้น จึงเก็บอัฐิใส่โกศ สำหรับนำไปทำพิธีลอยอังคารต่อไป

About the author : Pres

Related posts

Popular products

Product categories