กงเต๊ก
กงเต๊ก ลูกหลานคนจีนอาจจะเคยได้ยินผ่าน ๆ หูกันอยู่บ้าง แต่เคยรู้หรือไม่ว่า พิธีกงเต๊ก จริง ๆ แล้วมันคืออะไร มีประวัติความเป็นมาอย่างไร และทำไมถึงควรจัดขึ้นให้กับผู้ล่วงลับ ทั้ง ๆ ที่ก็สามารถจัดงานฌาปนกิจตามแบบปกติได้ Sangchan จะมาเล่าให้คุณฟัง ในทุกเรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ กงเต็ก

กงเต๊ก คืออะไร

กงเต๊ก

กงเต๊ก คือ พิธีกรรมในงานศพแบบคนไทยเชื้อสายจีน ที่นิยมปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน มีจุดมุ่งหมายในการทำบุญอุทิศส่วนกุศล ปัดเป่ารังควาน และแสดงถึงความกตัญญูกตเวที ให้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่สวรรค์ โดยเป็นการเอาคำ 2 คำ มารวมกันคือ กง แปลว่า ทำ, บำเพ็ญ ส่วน เต๊ก แปลว่า บุญ, กุศล

ประวัติความเป็นมาของกงเต๊ก

กงเต็ก

ประวัติความเป็นมาของ กงเต๊ก สันนิษฐานกันว่า อาจมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่มีหลักฐานปรากฏ จึงไม่อาจระบุได้แน่ชัด โดยสาเหตุที่คนจีนทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และจีนโพ้นทะเล นิยมทำพิธีกงเต็กให้กับผู้ตายนั้น ด้วยคนจีนตั้งแต่อดีต มีรากฐานทางความเชื่อมาจาก 3 ศาสนาด้วยกันคือ

  • ศาสนาพุทธนิกายมหายาน : เชื่อในเรื่องนรกและสวรรค์
  • ลัทธิเต๋า : สอนให้เชื่อในเรื่องธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติ (วิญญาณ ภูติผีปีศาจ)
  • ลัทธิขงจื้อ : ลูกหลานต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ บรรพบุรุษ

เมื่อมีคนในครอบครัวเสียชีวิต จึงต้องจัดพิธี กงเต็ก เพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อทั้ง 3 อย่าง คือ ทำบุญอุทิศส่วนกุศล ตามความเชื่อทางศาสนาพุทธ เพื่อให้วิญญาณของผู้ล่วงลับไปสู่สวรรค์ ทำการปัดเป่ารังควาน ป้องกันวิญญาณของผู้ล่วงลับไม่ให้มาหลอกหลอน ตามความเชื่อของลัทธิเต๋า และสุดท้ายคือ จัดพิธีนี้ขึ้นด้วยความตั้งใจ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที ตามลัทธิขงจื้อ

ด้วยความเชื่อที่มีสืบทอดต่อ ๆ กันมา ทำให้ถึงแม้คนจีนโพ้นทะเลอพยพออกมายังประเทศอื่น ๆ ก็ยังคงสืบสานประเพณีการทำกงเต๊กให้กับผู้ล่วงลับอย่างเหนียวแน่น ก่อนที่จะเริ่มเสื่อมความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง และคนรุ่นใหม่เริ่มมีค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป

ทำไมถึงควรจัด กงเต๊ก ให้กับผู้ล่วงลับ

กงเต๊ก

ถึงแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะเริ่มให้คุณค่ากับการจัด กงเต๊ก น้อยลง เนื่องจากอาจเห็นว่า เป็นพิธีกรรมที่มีค่าใช้จ่ายสูง และ ไม่ยึดโยงกับความเชื่อทางศาสนาที่มีมาแต่เดิม อย่างไรก็ตาม ญาติผู้ใหญ่ ตลอดจนรุ่นพ่อรุ่นแม่ หลายคนยังคงมีความเชื่อและยึดมั่นในธรรมเนียมแบบจีนอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย ดังจะเห็นได้จากเทศกาลสำคัญอย่างวันตรุษจีน วันเช็งเม้ง วันสารทจีน ตลอดจนวันไหว้เจ้าต่าง ๆ ที่ยังคงสืบสานการบูชา ซื้อสิ่งของมาเซ่นไหว้อยู่โดยตลอด

ดังนั้น หากการจัดพิธีกงเต๊ก เป็นสิ่งที่ท่านต้องการ ลูกหลานก็ควรจัดให้อย่างเหมาะสม เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศล แสดงถึงความกตัญญูกตเวที ให้ดวงวิญญาณของท่านไปสู่สุขคติ โดยถึงแม้ว่าการทำฌาปนกิจ ลูกหลานก็จะได้บวชหน้าไฟ และสวดมนต์ ส่งบุญกุศลและแสดงความกตัญญูได้เหมือน ๆ กัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันตรงที่ หากได้จัดพิธี กงเต็ก แล้ว จะเป็นโอกาสได้ร่วมกันสืบทอดธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของชาวจีนโพ้นทะเล ที่มีมาตั้งแต่รุ่นอากง อาม่าให้ยังคงอยู่ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงการไม่ลืมรากเหง้าของตนเองด้วยนั่นเอง

ขั้นตอนของ พิธีกงเต็ก มีอะไรบ้าง

กงเต๊ก

พิธีกงเต๊ก จะจัดขึ้นหลังจากสวดอภิธรรม ตามพิธีงานศพของศาสนาพุทธทั่วไป โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่ แบบทั้งวันทั้งคืนจะเริ่มในช่วงประมาณ 09.00 – 22.00 น., แบบครึ่งวันครึ่งคืน จะเริ่มในช่วงประมาณ 13.00 – 22.00 น. และแบบครึ่งคืน จะเริ่มในช่วงประมาณ 16.00 – 22.00 น. ซึ่งคนไหนสะดวกแบบไหน ก็เลือกช่วงเวลาที่สะดวกได้เลย

การเตรียมตัวจัดพิธีกงเต๊ก

1. วันที่จัดพิธีกงเต๊ก

วันที่จัดพิธี กงเต๊ก จะเป็นวันที่จัดก่อนถึงวันเผา 1 วัน ตัวอย่างเช่น หากงานศพมี 7 วัน วันที่จัดพิธีกงเต๊ก คือ วันที่ 6 หากงานศพมี 9 วัน วันที่จัดพิธีกงเต๊ก คือ วันที่ 8

2 เครื่องแต่งกายของผู้เข้าร่วมงาน

  • พี่ชายและน้องสาวของผู้ตาย สวมเสื้อสีขาวหรือดำ ที่เอวผูกสายผ้าสีขาว
  • ลูกชาย ใส่ชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าดิบไว้ด้านใน คลุมทับด้วยชุดที่ตัดเย็บจากผ้าปอหรือผ้ากระสอบ มีเชือกคาดเอว ห้อยถุงผ้าเล็ก ๆ สวมหมวกทรงสูง หากลูกชายคนไหนแต่งงาน จะมีสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีขาวติดหมวก หากยังไม่แต่งงาน จะติดสัญลักษณ์สีแดงติดหมวก
  • ลูกสาว ใส่ชุดที่ตัดเย็บด้วยผ้าดิบไว้ด้านใน คลุมทับด้วยชุดที่ตัดเย็บจากผ้าปอหรือผ้ากระสอบ มีเชือกคาดเอว ห้อยถุงผ้าเล็ก ๆ สวมหมวกสามเหลี่ยม หากแต่งงานแล้วจะติดสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีขาวติดหมวก สวมกระโปรง หากยังไม่แต่งงาน จะติดสัญลักษณ์สีแดงติดหมวก
  • ลูกเขย ใส่ชุดสีขาว ผ้าผืนยาวสีขาวสำรับพันรอบเอว และใส่หมวกสีขาว
  • หลานและเหลน ใส่ผ้าดิบสีขาว สวมหมวกสามเหลี่ยม

3. อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในพิธี

  • ปะรำพิธี : เป็นฉาก ประดับด้วยภาพพระโพธิสัตว์ ภาพนรก สวรรค์ ยมบาล
  • เครื่องดนตรี : กลองใหญ่ ฆ้อง ขิม ปี่ ซอ
  • ผลไม้ 5 ชนิด : ส้ม กล้วย องุ่น ชมพู่ ละมุด
  • ของเซ่นไหว้ : ข้าวสาร อาหารแห้ง ขนมต่าง ๆ
  • เครื่องกระดาษกงเต็ก : โคมวิญญาณ ม้าและนก บ้าน กระดาษเงินกระดาษทอง เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ

ช่วงประกอบพิธีกงเต๊ก

1. ทำพิธีสวดเปิดมณฑลสถาน

สวดอัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มาเป็นองค์ประธาน ณ พุทธสภาที่แทนด้วยฉากผ้าปักสีแดง เพื่อให้พิธีมีความศักดิ์สิทธิ์และความสิริมงคล

2. ส่งสารไปยังยมโลก

โดยการผูกสารกับม้ากงเต๊กและนกกงเต๊ก ที่ทำจากกระดาษ เสร็จแล้วนำไปเผา เพื่อแจ้งข่าวการเสียชีวิตของผู้ล่วงลับไปยังสวรรค์และปรโลก เป็นการบอกกล่าวและขอเปิดทางให้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับเดินทางได้อย่างสะดวก

3. ทำพิธีชำระดวงวิญญาณ

สวดอัญเชิญดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับมาสถิตที่โคมวิญญาณ ซึ่งได้แขวนเสื้อผ้าของผู้เสียชีวิตเอาไว้ แล้วอัญเชิญให้อาบน้ำชำระดวงจิตในห้องน้ำกงเต๊ก ที่มีอ่างขาวใส่น้ำสะอาดและผ้าขนหนูสีขาว เพื่อให้ดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับมีความพร้อมสำหรับฟังธรรม และรับของที่ลูกหลานเตรียมไว้ให้ ณ ปะรำพิธี ซึ่งเป็นฉากผ้าปักสีน้ำเงิน สำหรับความหมายของพิธีการชำระดวงวิญญาณนั้น สื่อถึงการชำระอกุศลกรรมของผู้ล่วงลับ ที่อาจเผลอกระทำไว้ทั้งแบบตั้งใจและแบบไม่ตั้งใจในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

4. จุดธูปแจ้งข่าวบรรพบุรุษ

เมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต ต้องจุดธูปแจ้งข่าวการเสียชีวิตของผู้ล่วงลับให้บรรพบุรุษรับทราบก่อน จากนั้นจึงจัดเตรียมอาหารและของไหว้ต่าง ๆ ไว้รอรับบรรพบุรุษที่มาเป็นพี่เลี้ยงในการเดินทาง ซึ่งขั้นตอนของพิธีไหว้บรรพบุรุษนี้ ถือเป็นการสอนให้ลูกหลานเคารพและกตัญญูรู้คุณต่อบรรพบุรุษ

5. ทำพิธีบูชาพระเจดีย์

พระสงฆ์จะสวดมนต์นำดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับเดินเวียนประทักษิณรอบพระเจดีย์ แต่หากผู้ล่วงลับเป็นผู้หญิง ให้ใช้สระอโนดาตหรือสระบัวแทน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพบูชาพระเจดีย์และพระพุทธองค์ ซึ่งในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าพระเจดีย์เป็นสังเวชนียสถานหรือตัวแทนของพระพุทธเจ้า ที่เราควรกราบไหว้บูชา สำหรับความหมายของการทำพิธีบูชาพระเจดีย์นั้น ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้พุทธศาสนิกชนรำลึกถึงคุณงามความดีของพระศาสดา ที่มีต่อเหล่าสรรพสัตว์และรำลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย เพื่อช่วยให้เจริญสติได้ง่ายขึ้นและเจริญรอยตามพระพุทธองค์

6. ทำพิธีเดินข้ามสะพานกงเต๊ก

การเดินข้ามสะพานกงเต๊ก เป็นสัญลักษณ์แทนการเดินทางของดวงวิญญาณผู้ล่วงลับ จากภพหนึ่งไปสู่อีกภพหนึ่ง ซึ่งพระสงฆ์จีนจะพาดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับมายังเขตแดนสวรรค์โดยมีลูกหลานมาส่ง และเมื่อส่งเสร็จก็จะเดินข้ามสะพานกลับ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ข้ามสะพานทุกครั้ง ลูกหลานจะต้องโยนเหรียญสตางค์ลงในอ่างน้ำ สำหรับสิ่งที่ควรระวังในพิธีนี้ก็คือ หากลูกหลานผู้หญิงคนไหนที่มีประจำเดือน ห้ามเดินข้ามสะพานโดยเด็ดขาด แต่ให้เดินอยู่ด้านข้างสะพานแทน

7. ทำพิธีสวดส่งเทพ ส่งวิญญาณ และถวายเครื่องกระดาษ

หลังจากข้ามสะพานกงเต๊กเสร็จ ก็จะเป็นพิธีสวดส่งเทพ ส่งวิญญาณ และถวายเครื่องกระดาษ ซึ่งการถวายเครื่องกระดาษนี้จะเป็นการเผากระดาษเงิน กระดาษทองให้แก่ผู้ล่วงลับ รวมไปถึงของกงเต๊กต่าง ๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบ้านพร้อมที่ดิน เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ เงินทอง คนรับใช้ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับ โดยอาจจะเผาหลังจากทำพิธีกงเต๊กเสร็จ หรือจะเผาในวันรุ่งขึ้นไปพร้อมกับพิธีฌาปนกิจหรือการเดินทางไปฝังศพที่ฮวงซุ้ยก็ได้เช่นกัน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

About the author : Pres

Related posts

Popular products

Product categories